วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

การศึกษาเพื่อชุมชน : มหาวิทยาลัยชีวิต

' โดย นักศึกษาสุมณฑินี สมัครพงศ์
' รหัสนักศึกษา ๔๙๕๐๑๗๓๖๒๕๒๘๘


ด้วยวัยและประสบการณ์ในระยะเวลา ๔๘ ปีของช่วงชีวิตดิฉันที่ผ่านมา ผลของการพัฒนาประเทศภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ แผนฯ ๑ – ๙ และแผน ๑๐ รัฐได้ทุ่มเททรัพยากรในทุกด้านเพื่อจะพัฒนาประเทศให้ทันสมัย เพื่อจะได้หลุดพ้นจาการเป็นประเทศด้อยพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จัดสรรงบประมาณ และได้วางโครงสร้างจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรมให้สอดรับกับทิศทางและบรรลุผลในเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ของแผน ระบบพึ่งพิง-พึ่งพาความเกื้อกูลของชุมชนเริ่มห่างหาย ขาดความเชื่อมั่นของคนภายในชุมชนด้วยกันเอง การบริหารจัดการภายในชุมชนยากแก่การประสาน วัฒนธรรมที่เกื้อกูล จิตใจสาธารณะเริ่มห่างหายไปจากชุมชน การพัฒนาทิ้งไว้แต่ความหวังพึ่งรัฐ หวังพึ่งแต่กลุ่มชนภายนอกชุมชน ต้องอาศัยคนภายนอกหรือหน่วยงานราชการเข้ามาจัดการ

การจัดการและให้การศึกษาที่ผ่านมา คนยิ่งมีความรู้ ยิ่งการศึกษาสูง ตั้งแต่ระดับการศึกษาสูงกว่าประถมศึกษา ไม่สามารถจะประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุขอยู่ในชุมชน ต้องอพยพไปทำงานถิ่นอื่น คนที่มีความรู้ระดับบัณฑิตหรือมหาบัณฑิต จะสามารถมาประกอบอาชีพอยู่ในชุมชนหรือทำงานสร้างสรรค์ชุมชน ควบคู่กับการทำงานหน่วยงานพัฒนาของรัฐได้อย่างน้อยคนเหลือเกิน ในชุมชนมีแต่บุคลากรในการทำงานเป็นคนเฒ่าคนแก่หรืออาจจะพบเห็นลูก หลานที่ตัวเล็กๆ ที่ถูกส่งมาให้เลี้ยงจากกลุ่มคนหนุ่มสาว ที่เป็นวัยทำงานอยู่ในเมืองหรือเมืองใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งงาน ทำให้ชุมชนท้องถิ่นขาดผู้รู้ที่เป็นวัยทำงาน วัยเจริญพันธุ์ของชุมชนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นการเกิดศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้คนในชุมชนที่มีวิชาความรู้ได้พัฒนาท้องถิ่นตนเอง โดยความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษากับมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในภูมิภาคต่างๆ เช่น ภาคใต้ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภูเก็ตและมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ภาคกลาง ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจอมบึง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสระเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ภาคเหนือและภาคตะวันออก ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ถือเป็นความร่วมมือจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีความก้าวหน้าเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อชุมชน ระดมศักยภาพ สรรพกำลังของท้องถิ่น มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกด้าน โดยเฉพาะองค์กรราชการ(ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ. เทศบาล และอบต. ชุมชน องค์กรเอกชนที่มีแนวคิดอุดมคติในการจัดการชุมชน ให้เกิดชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อชุมชนจัดการตนเองและพึ่งตนเองได้ในที่สุด

การจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา และมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรภายในท้องถิ่น หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นการจัดการศึกษามุ่งสร้างบัณฑิตพัฒนาท้องถิ่นที่สนองตอบต่อชุมชนอย่างแท้จริง เป็นการ“สร้างผู้รู้อยู่คู่กับชุมชนท้องถิ่น” ซึ่งเป็นบุคลากรใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษาเป็นผู้นำพาทางความคิดการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญเป็นคนวัยทำงานที่กำลังกล้าแกร่งทั้งแรงกาย แรงความคิดและความมุ่งมั่น เป็นผู้ร่วมกันค้นหาความต้องการ ร่วมกันคิด วิเคราะห์ปัญหา กำหนด วางแผนทิศทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้ตามศักยภาพ ความหลากหลายอย่างสอดคล้องเป็นของชุมชนท้องถิ่นเอง และยังแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือจากองค์กรภายนอกมาใช้เป็นเครื่องมือของการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างรู้เท่าทัน

การจัดการศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตจังหวัดนครศรีธรรมราช ในระดับมหาบัณฑิตหรือบัณฑิตศึกษา (ศศ.ม.) หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัญฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (Master of Art Program in Interdisciplinary Study For Local Development) โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสากิจชุมชน และร่วมมือกับองค์กรในพื้นที่เป็นเจ้าภาพท้องถิ่นโดยมี “คณะกรรมการบริหารศูนย์เรียนรู้” กำกับดูแลได้แก่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช และองค์การบริหารส่วนตำบลนาสาร โดยใช้สถานที่จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์จัดการศึกษา มีผู้อำนวยการเรียนรู้ดำเนินการ ประสานงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครและมูลนิธิสถาบันวิสาหกิจชุมชน ในการอำนวยความสะดวกทางด้านงานธุรการ กระบวนการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา อาจารย์ วิทยากร และรวมถึงการจัดกระบวนการศึกษาต่อเนื่อง ในบริบทของท้องถิ่นที่สอดคล้องกับหลักสูตรเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องโดยวางแผนอย่างมีส่วนร่วม ของผู้ประสานงานกับนักศึกษาตลอดทั้งภาคเรียนและรวมถึงการขอการสนับสนุนจากองค์กรภาคีท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้หนุนช่วยงบประมาณเพื่อให้ผู้นำท้องถิ่นนักศึกษาได้ทัศนศึกษาดูงาน ที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาบัณฑิตและมหาบัณฑิต ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวในการวางแผน ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นได้ในอนาคต

“มหาบัณฑิตแห่งอนาคต สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ” ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตรให้มหาบัณฑิตมีคุณลักษณะคือ “มีความรู้ความเข้าใจหลักการทางสาขาวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สามารถนำความรู้จากแนวคิดทฤษฎี ผลงานวิจัยและการวิจัยไปใช้เพื่อวางแผน ดำเนินการ และประเมินผลการพัฒนาท้องถิ่น มีทักษะในการค้นคว้าวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านสาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สร้างความก้าวหน้าทางวิชาการด้านการพัฒนาท้องถิ่นที่มีลักษณะบูรณาการและเชื่อมโยงสาขาวิชาต่างๆเข้าด้วยกันอย่างมีพลังและมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และมีความพร้อมในการเป็นนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น” นอกเหนือจากการจัดการศึกษาให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรแล้ว ยังมุ่งเน้นปรัชญาของหลักสูตรคือ“การแก้ไขปัญหาความยากจนให้ได้ผลอย่างยั่งยืนนั้นต้องมีการพัฒนาทุนทางปัญญาโดยการส่งเสริมมุ่งกระบวนการเรียนรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกันและสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของท้องถิ่น รวมทั้งปัจจัยต่างๆอย่างมีพลัง ทั้งนี้โดยการเปิดโอกาสให้บุคลากรที่อยู่ในท้องถิ่นได้ศึกษาในระดับมหาบัณฑิต เพื่อให้สามารถสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับศักยภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละท้องถิ่น อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นรากฐานสำคัญเพื่อการพัฒนาที่มั่นคงของประเทศชาติโดยรวม” (มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร,๒๕๔๙) ซึ่งได้เล็งเห็นว่าการผลิตมหาบัณฑิต ในสาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ มหาบัณฑิตที่สามารถเป็นบุคลากรที่เข้มแข็งในด้านการวิจัยและพัฒนาโดยใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาอย่างสอดคล้องกับสภาพปัญหาท้องถิ่น เป็นวิทยากร ครู และอาจารย์ที่รู้เข้าใจในฐานทรัพยากรของเศรษฐกิจชุมชน ความหลากหลายและภูมิปัญญา ซึ่งเป็นรากเหง้าของชุมชนท้องถิ่น และที่สำคัญเป็นนักยุทธศาสตร์ในการวางแผนพัฒนาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับทรัพยากรของท้องถิ่นอย่างแท้จริง

“มหาบัณฑิตแห่งอนาคต สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ” ต้องอาศัยยุทธศาสตร์หลายสาขาในการดำเนินวิถีชีวิตที่มีความอยู่เย็นเป็นสุข และชำนาญการที่จะเป็นนักวิจัยและพัฒนาร่วมกับชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการเป็นนักยุทธศาสตร์ในวางแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น เป้าหมายเพื่อจะแก้ปัญหาการพึ่งพิง-พึ่งพาจากองค์กรภายนอก สร้างความพร้อม สร้างพลังให้แก่ชุมชนที่เผชิญสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม วิทยาการและเทคโนโลยี่ที่เปลี่ยนไป ตลอดจนช่วยในการพัฒนาตนเองและชุมชนของตนได้อย่างเหมาะสม ใช้ประโยชน์ของการเรียนรู้มาพัฒนาคนในชุมชนทุกๆด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สังคม การเมือง และวัฒนธรรม สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถจัดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ปรัชญาการศึกษาที่ว่า “ ชุมชมเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง สู่ชุมชนพึ่งตนเอง” โดยมีแนวทางการจัดการศึกษา คือ “นำสิ่งที่ทำมาเรียน นำสิ่งที่เรียนไปทำ เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน” ซึ่งดิฉันมั่นใจว่าหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ พระนครร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสากิจชุมชน และความร่วมมือกับองค์กรในพื้นที่ จะเป็นเป็นรากฐานสำคัญเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ก่อให้เกิดความมั่นคงของประเทศชาติต่อไป

(เขียนเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2550 เสนอ รศ. ดร.โกวิทย์ พวงงาม)


'J'J'J'J'J'J'J'J'J'J'J'J'J'J'J

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ในฐานะที่ผมเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตรงกับแผนยุทธศาสตร์ในหัวข้อที่ผมสนใจศึกษาเลย
เอาสิ่งที่เรียนไปทำ เอาสิ่งที่ทำไปเรียน พัฒนาพื้นที่ให้เข้มแข็งและยั่งยืน