วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

การศึกษาเพื่อชุมชน : มหาวิทยาลัยชีวิต

' โดย นักศึกษาสุมณฑินี สมัครพงศ์
' รหัสนักศึกษา ๔๙๕๐๑๗๓๖๒๕๒๘๘


ด้วยวัยและประสบการณ์ในระยะเวลา ๔๘ ปีของช่วงชีวิตดิฉันที่ผ่านมา ผลของการพัฒนาประเทศภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ แผนฯ ๑ – ๙ และแผน ๑๐ รัฐได้ทุ่มเททรัพยากรในทุกด้านเพื่อจะพัฒนาประเทศให้ทันสมัย เพื่อจะได้หลุดพ้นจาการเป็นประเทศด้อยพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จัดสรรงบประมาณ และได้วางโครงสร้างจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรมให้สอดรับกับทิศทางและบรรลุผลในเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ของแผน ระบบพึ่งพิง-พึ่งพาความเกื้อกูลของชุมชนเริ่มห่างหาย ขาดความเชื่อมั่นของคนภายในชุมชนด้วยกันเอง การบริหารจัดการภายในชุมชนยากแก่การประสาน วัฒนธรรมที่เกื้อกูล จิตใจสาธารณะเริ่มห่างหายไปจากชุมชน การพัฒนาทิ้งไว้แต่ความหวังพึ่งรัฐ หวังพึ่งแต่กลุ่มชนภายนอกชุมชน ต้องอาศัยคนภายนอกหรือหน่วยงานราชการเข้ามาจัดการ

การจัดการและให้การศึกษาที่ผ่านมา คนยิ่งมีความรู้ ยิ่งการศึกษาสูง ตั้งแต่ระดับการศึกษาสูงกว่าประถมศึกษา ไม่สามารถจะประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุขอยู่ในชุมชน ต้องอพยพไปทำงานถิ่นอื่น คนที่มีความรู้ระดับบัณฑิตหรือมหาบัณฑิต จะสามารถมาประกอบอาชีพอยู่ในชุมชนหรือทำงานสร้างสรรค์ชุมชน ควบคู่กับการทำงานหน่วยงานพัฒนาของรัฐได้อย่างน้อยคนเหลือเกิน ในชุมชนมีแต่บุคลากรในการทำงานเป็นคนเฒ่าคนแก่หรืออาจจะพบเห็นลูก หลานที่ตัวเล็กๆ ที่ถูกส่งมาให้เลี้ยงจากกลุ่มคนหนุ่มสาว ที่เป็นวัยทำงานอยู่ในเมืองหรือเมืองใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งงาน ทำให้ชุมชนท้องถิ่นขาดผู้รู้ที่เป็นวัยทำงาน วัยเจริญพันธุ์ของชุมชนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นการเกิดศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้คนในชุมชนที่มีวิชาความรู้ได้พัฒนาท้องถิ่นตนเอง โดยความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษากับมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในภูมิภาคต่างๆ เช่น ภาคใต้ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภูเก็ตและมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ภาคกลาง ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจอมบึง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสระเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ภาคเหนือและภาคตะวันออก ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ถือเป็นความร่วมมือจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีความก้าวหน้าเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อชุมชน ระดมศักยภาพ สรรพกำลังของท้องถิ่น มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกด้าน โดยเฉพาะองค์กรราชการ(ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ. เทศบาล และอบต. ชุมชน องค์กรเอกชนที่มีแนวคิดอุดมคติในการจัดการชุมชน ให้เกิดชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อชุมชนจัดการตนเองและพึ่งตนเองได้ในที่สุด

การจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา และมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรภายในท้องถิ่น หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นการจัดการศึกษามุ่งสร้างบัณฑิตพัฒนาท้องถิ่นที่สนองตอบต่อชุมชนอย่างแท้จริง เป็นการ“สร้างผู้รู้อยู่คู่กับชุมชนท้องถิ่น” ซึ่งเป็นบุคลากรใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษาเป็นผู้นำพาทางความคิดการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญเป็นคนวัยทำงานที่กำลังกล้าแกร่งทั้งแรงกาย แรงความคิดและความมุ่งมั่น เป็นผู้ร่วมกันค้นหาความต้องการ ร่วมกันคิด วิเคราะห์ปัญหา กำหนด วางแผนทิศทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้ตามศักยภาพ ความหลากหลายอย่างสอดคล้องเป็นของชุมชนท้องถิ่นเอง และยังแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือจากองค์กรภายนอกมาใช้เป็นเครื่องมือของการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างรู้เท่าทัน

การจัดการศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตจังหวัดนครศรีธรรมราช ในระดับมหาบัณฑิตหรือบัณฑิตศึกษา (ศศ.ม.) หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัญฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (Master of Art Program in Interdisciplinary Study For Local Development) โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสากิจชุมชน และร่วมมือกับองค์กรในพื้นที่เป็นเจ้าภาพท้องถิ่นโดยมี “คณะกรรมการบริหารศูนย์เรียนรู้” กำกับดูแลได้แก่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช และองค์การบริหารส่วนตำบลนาสาร โดยใช้สถานที่จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์จัดการศึกษา มีผู้อำนวยการเรียนรู้ดำเนินการ ประสานงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครและมูลนิธิสถาบันวิสาหกิจชุมชน ในการอำนวยความสะดวกทางด้านงานธุรการ กระบวนการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา อาจารย์ วิทยากร และรวมถึงการจัดกระบวนการศึกษาต่อเนื่อง ในบริบทของท้องถิ่นที่สอดคล้องกับหลักสูตรเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องโดยวางแผนอย่างมีส่วนร่วม ของผู้ประสานงานกับนักศึกษาตลอดทั้งภาคเรียนและรวมถึงการขอการสนับสนุนจากองค์กรภาคีท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้หนุนช่วยงบประมาณเพื่อให้ผู้นำท้องถิ่นนักศึกษาได้ทัศนศึกษาดูงาน ที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาบัณฑิตและมหาบัณฑิต ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวในการวางแผน ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นได้ในอนาคต

“มหาบัณฑิตแห่งอนาคต สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ” ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตรให้มหาบัณฑิตมีคุณลักษณะคือ “มีความรู้ความเข้าใจหลักการทางสาขาวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สามารถนำความรู้จากแนวคิดทฤษฎี ผลงานวิจัยและการวิจัยไปใช้เพื่อวางแผน ดำเนินการ และประเมินผลการพัฒนาท้องถิ่น มีทักษะในการค้นคว้าวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านสาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สร้างความก้าวหน้าทางวิชาการด้านการพัฒนาท้องถิ่นที่มีลักษณะบูรณาการและเชื่อมโยงสาขาวิชาต่างๆเข้าด้วยกันอย่างมีพลังและมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และมีความพร้อมในการเป็นนักยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น” นอกเหนือจากการจัดการศึกษาให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรแล้ว ยังมุ่งเน้นปรัชญาของหลักสูตรคือ“การแก้ไขปัญหาความยากจนให้ได้ผลอย่างยั่งยืนนั้นต้องมีการพัฒนาทุนทางปัญญาโดยการส่งเสริมมุ่งกระบวนการเรียนรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกันและสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของท้องถิ่น รวมทั้งปัจจัยต่างๆอย่างมีพลัง ทั้งนี้โดยการเปิดโอกาสให้บุคลากรที่อยู่ในท้องถิ่นได้ศึกษาในระดับมหาบัณฑิต เพื่อให้สามารถสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับศักยภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละท้องถิ่น อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นรากฐานสำคัญเพื่อการพัฒนาที่มั่นคงของประเทศชาติโดยรวม” (มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร,๒๕๔๙) ซึ่งได้เล็งเห็นว่าการผลิตมหาบัณฑิต ในสาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ มหาบัณฑิตที่สามารถเป็นบุคลากรที่เข้มแข็งในด้านการวิจัยและพัฒนาโดยใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาอย่างสอดคล้องกับสภาพปัญหาท้องถิ่น เป็นวิทยากร ครู และอาจารย์ที่รู้เข้าใจในฐานทรัพยากรของเศรษฐกิจชุมชน ความหลากหลายและภูมิปัญญา ซึ่งเป็นรากเหง้าของชุมชนท้องถิ่น และที่สำคัญเป็นนักยุทธศาสตร์ในการวางแผนพัฒนาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับทรัพยากรของท้องถิ่นอย่างแท้จริง

“มหาบัณฑิตแห่งอนาคต สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ” ต้องอาศัยยุทธศาสตร์หลายสาขาในการดำเนินวิถีชีวิตที่มีความอยู่เย็นเป็นสุข และชำนาญการที่จะเป็นนักวิจัยและพัฒนาร่วมกับชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการเป็นนักยุทธศาสตร์ในวางแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น เป้าหมายเพื่อจะแก้ปัญหาการพึ่งพิง-พึ่งพาจากองค์กรภายนอก สร้างความพร้อม สร้างพลังให้แก่ชุมชนที่เผชิญสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม วิทยาการและเทคโนโลยี่ที่เปลี่ยนไป ตลอดจนช่วยในการพัฒนาตนเองและชุมชนของตนได้อย่างเหมาะสม ใช้ประโยชน์ของการเรียนรู้มาพัฒนาคนในชุมชนทุกๆด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สังคม การเมือง และวัฒนธรรม สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถจัดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ปรัชญาการศึกษาที่ว่า “ ชุมชมเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง สู่ชุมชนพึ่งตนเอง” โดยมีแนวทางการจัดการศึกษา คือ “นำสิ่งที่ทำมาเรียน นำสิ่งที่เรียนไปทำ เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน” ซึ่งดิฉันมั่นใจว่าหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ พระนครร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสากิจชุมชน และความร่วมมือกับองค์กรในพื้นที่ จะเป็นเป็นรากฐานสำคัญเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ก่อให้เกิดความมั่นคงของประเทศชาติต่อไป

(เขียนเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2550 เสนอ รศ. ดร.โกวิทย์ พวงงาม)


'J'J'J'J'J'J'J'J'J'J'J'J'J'J'J

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

วัน เวลาเมื่อยามว่าง จากการดูงาน ณ อลงกตรีสอร์ท

วัน เวลาเมื่อยามว่าง (อลงกตรีสอร์ท)
จากการศึกษาดูงานของนักศึกษา ป.โท ศูนย์จังหวัดนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ครั้งที่ ๔ ท่าศาลา ขนอม ดินแดนอันดามัน
ร้อยเรียงโดยนักศึกษาสุมณฑินี สมัครพงศ์
“”””””””””””””””””””””””””””””””””””
๒๖มกราได้เวลาศึกษาดูงาน โก้ปี๋เป็นแหล่งสถานจุดนัดพบ
เจ็ดนาฬิกาสามสิบตามกำหนด ต้องรันทดนั่งรอใครไม่มา
ศิวพรขวัญใจเพื่อนมาแล้ว ใจพี่แก้วชุ่มชื้นจริงจริงหนา
นั่นชุลีพรพัชรีเร่งรี่มา แปดนาฬิกาสามสิบจรจากร้านโก้ปี๋
ครรไลต่อควบล้อท่าศาลา สมทบพยอมกันลิกามาแล้วพี่
สรศักดิ์นงลักษณ์พี่เพ็ญศรี สุธารัตน์พี่ดำริณรงค์คนสุดหล่อ
เก้าโมงเศษถึงเขตแหล่งเรียนรู้ นามเลิศหรูเศรษฐกิจพอเพียงการเกิดก่อ
ผักปลอดสารพิษอินทรีย์เกษตรสืบสานต่อ แสนวิเศษก็กะปิอร่อยผึ้งโด่งดัง
เข้าเขตขนอมพี่ไพศาลพี่นิภาละลานตา อภิวัฒน์สาวสุดามาอูมานั่งฟัง
น้องมุกน้องโหล้ยชาติชายและพี่หมอ มุกดาจ้อสะอาดเอี่ยมพร้อมวินัยมา
ผู้ทรงปัญญาพี่รวมสรรหามามากมาย ความรู้หลากหลายถ่ายทอดนักศึกษา
เสร็จสรรพเสริฟน้ำพริกพร้อมผักปลา อร่อยหนักหนารสชาติจะขาดใจ
บ่ายโมงถอดบทเรียนกุ้งเคยและน้ำปลา พี่เล็กวชิราฯ ชายฝั่งไทย
นักศึกษานั่งฟังอย่างสนใจ และทันใดเกิดปัญญาขึ้นทันที
ดร.สวัสดิ์ท่านสวัสดิ์วิ่งลัดมา คิงแค็งเจี๊ยบปลามาเร็วรี่
เดินทางต่อหมายมุ่งเขาเจดีย์ ปะการังนี่ทรงลังกาน่าฉงน
สู่ค่ำคืนมาสมทบอีกหลายท่าน รองนันต์สมเดชพร้อมนฤมล
กำนันพรสาวสวยช่างน่าชม นั่นอุดมวุฒิแพรแลจรัญ
ค่ำคืนยิ่งดึกดื่นยิ่งแสนจะสุขสันต์ เป็นถิ่นชั้นเชื่อมรักสมัครสมาน
ช่างเป็นถิ่นที่เราแสนจะสำราญ ขนอมนี้ดุจวิมานของเทวัญ
ยี่สิบหกยี่สิบเจ็ดเสร็จดูงาน ร่วมสืบสานร่วมก่อเกิดคุณอนันต์
ร่วมจิตร่วมใจเหมือนพี่น้องกัน สู่ความฝันพัฒนาท้องถิ่นไทย
จากกันวันนี้มิสิ้นสุด คงมีจุดนัดพบในครั้งใหม่
ความรักความผูกพันมิหายไป รักจากใจสุมณฑินีมีเช่นเดิม
ขอเพื่อนพ้องน้องพี่จงมีสุข ปราศจากทุกข์ปราศจากภัยบุญส่งเสริม
ขอความสุขความเจริญยิ่งกว่าเดิม ให้พูนเพิ่มรวยทรัพย์รับปริญญา

(แต่งเล่นๆเมื่อยามว่างในยามเช้าที่อลงกตรีสอร์ท ขอเป็นนักแต่งสมัครเล่นที่ใจอยากแต่ง มอบให้เพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตทุกคน)

เกร็ดเล็กเกร็ดใหญ่ ศึกษาดูงานครั้งที่ ๔

เกร็ดเล็กเกร็ดใหญ่จาก ศึกษาดูงานของนักศึกษาป.โท ศูนย์การเรียนรู้นครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ครั้งที่ ๔ ท่าศาลา ขนอม สู่ดินแดนอันดามัน
เล่าเรื่องโดย นักศึกษาสุมณฑินี สมัครพงศ์
การศึกษาดูงานของนักศึกษาระดับมหาบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ศูนย์การเรียนรู้นครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้ถูกกำหนดขึ้นในครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๔ จากการครั้งที่ ๑ ศูนย์การเรียนรู้ไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๒ วัดป่ายาง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๓ ในเส้นทางอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ ๔ ในเส้นทางอำเภอท่าศาลา อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้ระยะเวลา ๒ วัน ๑ คืนเหมือนที่ผ่านมา
ก่อนเดินทางคณะทีมงานก็ได้ร่วมกันประชุมวางแผน กำหนดกิจกรรม เส้นทาง จุดดูงาน ตลอดจนจุดนัดพบ แล้วแจ้งไว้ใน Longlearning Blogspot . com ซึ่งน้องเบริด์อภิวัฒน์ ไชยเดชกับพี่หมออิทธิเดช วิเชียรรัตน์ ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นมา
วันเสาร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๑ นักศึกษาส่วนหนึ่งได้นัดพบกันที่ร้านโกปี๋ สาขาสี่แยก ท่าม้า ของโก้แอ้ดปรมาจารย์ร้านอาหารเมืองคอน ตามเวลานัดหมาย ๐๗.๓๐ นาฬิกา ผู้เขียนเองก็ปีกว่าๆที่ไม่ได้ไปเยือนขนอมเป็นเรื่องเป็นราว เพียงฉแว้บผ่านไปมา ตั้งนาฬิกาปลุกไว้หกโมงเช้า ด้วยความเป็นผู้หญิงหนึ่งชั่วโมงให้เวลาสำหรับตัวเองเสมอ เจ็ดโมงยี่สิบนาทีก็ถึงร้านโกปี๋ เป็นนิสัยที่ไม่ชอบให้ใครรอ พรรคพวกก็ได้ทยอยกันมาเรื่อยๆ เทคโนโลยี่สมัยใหม่โทรศัพท์มือถือใช้ในการติดต่อได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งแปดโมงครึ่งพวกเราก็เดินทางไปสมทบกับจุดที่สองปั๊มน้ำมัน ปตท. ท่าศาลา ออกเดินทางพร้อมกันเพื่อศึกษาดูงานเป็นจุดแรก เกิดการขลุกขลักในการประสานงานและเดินทางนิดหน่อย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของคนทำงานย่อมมีถูกมีพลาด แต่คนที่ไม่ทำอะไรเลยย่อมไม่มีผิดไม่มีถูก แต่คุณค่าและคุณภาพของคนก็ไม่เกิด ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจสำหรับคนทำงานเสมอ และถือเสียว่าเป็นรสชาติของการเดินทาง
ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจุดแรกของการศึกษาดูงาน เมื่อไปถึงคณะทีมงานได้รอต้อนรับด้วยสีหน้า แววตาที่แสดงถึงความตั้งใจ และเต็มใจกับการมาเยือนของพวกเรา จากคำบอกเล่าของคุณเจริญ วัตตา รองประธานกลุ่ม เล่าถึงความเป็นมาว่าได้เริ่มจัดตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ต่อมาหน่วยงานของทางราชการได้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์หลายหน่วยงานด้วยกัน ปีพ.ศ. ๒๕๔๒ จึงได้เริ่มจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน จนปัจจุบันเป็นธนาคารหมู่บ้าน สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่มได้ยึดตามหลักแนวเศรษฐกิจพอเพียง ต้องการให้สมาชิกขยัน ประหยัด และออม ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อกิน เพื่อขาย โดยมีเป้าหมาย ให้ทุกคนอยู่ดี กินดี มีสุข รักษาสุขภาพ คิดสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ดี เพื่อชีวิตที่พอเพียง โดยแบ่งกิจกรรมที่ทำเป็น ๔ กลุ่มย่อย คือ กลุ่มพืชผักพืชผลปลอดสารพิษ กลุ่มกะปิ กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงไทย และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ จากนั้นคุณเจริญยังเล่าต่อไปว่า ทางศูนย์จะไม่ใช้สารเคมีเลย เพราะจะทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบไปยังระบบธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะผึ้งจะไม่อยู่เด็ดขาด ทางศูนย์จะทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพกำจัดศัตรูพืชใช้กันเอง ซึ่งทางนักศึกษาก็ได้ติดไม้ติดมือมาคนละขวดสองขวด ในเรื่องของการสืบสานศูนย์ไม่เป็นห่วงเพราะตอนนี้หนุ่มน้อยจบปริญญาตรีจากกรุงเทพฯ ก็ได้มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้กับทางศูนย์พัฒนาบ้านเกิดของตนเอง นักเรียนเยาวชนก็ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ดูงาน ทำโครงงานมากมาย สุดท้ายคุณเจริญได้ทิ้งท้ายว่า หวังว่านักเรียนเยาวชนเหล่านี้จะได้รับการซึมซาบไปบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อจบการบรรยายและการชักถามของนักศึกษาแล้ว คณะนักศึกษาก็เดินเยี่ยมชมบริเวณศูนย์ ตั้งแต่การการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก การเลี้ยงผึ้ง แต่สิ่งที่พวกนักศึกษาตื่นเต้นก็คงจะเป็นลองกองช่อใหญ่ลูกโตเต่งตึงเหลืองนวลลออตาหลายช่ออวดโฉมอยู่บนต้น หลายคนก็ได้ถือติดไม้ติดติดมือ ด้วยความภาคภูมิใจที่ได้มาเป็นเจ้าของ เสียงโทรศัพท์เร่งเร้าจากขนอมทำให้พวกเราไม่สามารถอ้อยอิ่งในบรรยากาศที่ร่มสบายได้อีกต่อไป คณะนักศึกษาและทีมงานจึงได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกัน กล่าวขอบคุณเจ้าภาพก่อนเร่งสตาร์สู่ขนอม ประตูสู่เมืองพุทธภูมิ และเมื่อถึงสามแยกทางเข้าก็ได้รับการต้อนรับจากโลมาสีชมพูด้วยลีลาที่เป็นมิตร น่ารักน่าเอ็นดู เป็นการบ่งบอกให้รู้ว่าพวกเราได้ย่างก้าวสู่แผ่นดินขนอมแล้ว ธรรมชาติที่สวยงาม อากาศที่บริสุทธิ์ ทำให้รู้สึกสดชื่นจนอยากจะเก็บอากาศเหล่านี้ใส่กระเป๋ากลับบ้านด้วย ชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย แต่บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนอยู่ดี กินดี มีสุข มีให้เห็นตลอดเส้นทาง ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ยังอุดมสมบูรณ์เสียเหลือเกินในอำเภอขนอม จนประมาณสิบเอ็ดโมงคณะนักศึกษาก็ไปถึงจุดที่ ๒ ของการศึกษาดูงานของพวกเรา
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอ่าวหม่อมวัง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๔๖ หมู่ที่ ๑ ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช พี่สิริวิทย์ เสนเรือง พร้อมด้วยน้องอภิญญา สกุลรัตน์ ซึ่งเป็นนักศึกษาและเป็นเจ้าของท้องที่เจ้าภาพใหญ่ ได้รอคอยอยู่กับคณะนักศึกษาส่วนหนึ่ง ได้จัดทำเวทีไปล่วงหน้า ณ ที่นี้มีแขกผู้มีเกียรติของชุมชนมากหน้าหลายตาซึ่งได้เอ่ยนามไว้ในคำขอบคุณได้ให้เกียรติต้อนรับให้ความโดยเริ่มตั้งแต่การกล่าวต้อนรับโดยผู้อำนวยการโรงเรียนท้องเนียนคณาภิบาล ผอ.สุวัฒน์ คนซื่อ ตามด้วยผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ผอ.จำเริง ฤทธินิ่ม : กล่าวถึงเรื่องการศึกษากับชุมชน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำโฉ่ ผอ. กฤษฎา เพ็งจันทร์ : การศึกษากับองค์กรบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น อดีตสมาชิกสภาจังหวัดนครศรีธรรมราชและรองประธานกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าขนอม คุณประวิก ขนอม : อำเภอขนอมกับการท่องเที่ยว นายกสมาคมอำเภอขนอม คุณอำพล เจนเศรษวัฐ : ธุรกิจกับการศึกษา และปิดท้ายด้วยประธานชมรมพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขนอม คุณวชิรพงศ์ สกุลรัตน์ : การอนุรักษ์แนวชายฝั่ง จากนั้นก็เปิดประเด็นให้นักศึกษาได้ซักถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจนถึงเที่ยง และก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพิ่มเติมในวงอาหารเพิ่มเติมต่อไปอีก ต้องขอบอกและขอชมคณะผู้ทำอาหารซึ่งนำทีมโดยคุณอุทัย คุณเจริญ เสนเรือง ว่าอาหารอร่อยจริงๆ แม่บ้านเขากระซิบบอกว่าทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นเพราะกะปิและน้ำปลาของกลุ่มแม่บ้านหม่อมวังนั่นเอง น้ำพริก ปลาทูทอด ผักลวกราดด้วยกะทินิดๆที่จัดไว้ในจานอย่างสวยงาม ตามด้วยต้มกะทิหัวมะพร้าว เคียงข้างด้วยแกงไก่บ้านเหมงพร้าว และเมนูขึ้นโต๊ะ “เคยผัด” ซึ่งผู้เขียนค่อนข้างเป็นนักชิมแต่ไม่มีที่ไหนจะอร่อยเท่าของขนอม เมื่อทุกคนอิ่มหนำสำราญ นักศึกษาก็ได้นั่งพูดคุยกับพี่น้องชาวขนอมเขาบอกด้วยความภาคภูมิใจถึงความเป็นขนอมในวันนี้ น้ำยังสวย ดินยังดี ป่ายังอุดม อากาศบริสุทธิ์ ที่สำคัญผู้คนจิตใจดี มีน้ำใจ อยากคุยต่ออีกนานๆ แต่ด้วยความจำกัดของเวลานักศึกษาต้องจัดเวทีกันต่อ วาดหวังในวันข้างหน้าคงได้มีเวลาพูดคุยกันมากกว่านี้
คุณป้าสดชื่น เสนเรือง ประธานกลุ่มเกษตรกรอ่าวหม่อมวัง ได้เล่าถึงการทำกะปิของกลุ่มแม่บ้านหม่อมวัง ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อจนถึงตนเอง ใช้การผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้กะปิของกลุ่มอร่อย เก็บไว้ได้นาน ได้มาตรฐานผ่านการรับรองของ อย. กว่าจะถึงวันนี้ทางกลุ่มได้ใช้ความพากเพียรและอดทน จนกลายเป็นกะปิหม่อมวัง ที่โด่งดังและมีมาตรฐานการันตี นักศึกษาก็ได้แลกเปลี่ยนซักถามเป็นที่พอใจและครื้นเครงเป็นระยะๆ จากนั้นก็เป็นกรรมวิธีการทำน้ำปลาของกลุ่ม เป็นการทำน้ำปลาจากปลาไส้ตันจริงๆปลาจากทะเลสดๆ ผ่านการเลือกสิ่งเปื้อนปน การทำความสะอาด ใช้กรรมวิธีการหมักแบบธรรมชาติจนได้น้ำปลาที่ตักจากตุ่มจริงๆ ระยะกว่าจะได้ที่ อย่างน้อย ๑๒ – ๑๘ เดือน และผ่านการรับรองจาก อย. เช่นเดียวกัน จากนั้นคุณวชิรพงศ์ สกุลรัตน์พี่ชายของน้องอภิญญา สกุลรัตน์ ก็กล่าวบรรยายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาพร้อมด้วย ดร.สวัสดิ์ พุ้มพวง ซึ่งท่านได้ตามมาสบทบในเรื่องของการคงความอุดมสมบูรณ์ของขนอม การบุกรุกพื้นที่ของ นายทุน การสร้างความตระหนักและหวงแหนให้เกิดขึ้น การให้เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรชายฝั่ง ช่วยกันพิทักษ์รักษาให้เป็นบ่อเกิดของทรัพย์ต่อไป กระทั่งสามโมงกว่าจึงเสร็จสิ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเวทีวันนี้ จากนั้นพวกเราก็ได้เดินทางไปดู “เจดีย์ปะการัง”

จากคำบอกเล่าของพี่สิริวิทย์ เสนเรือง ถึงเรื่องราวของเจดีย์ปะการัง “บริเวณอ่าวท้องเนียนมีเจดีย์ทรงลังกาสูงเด่นอยู่บนเขาริมอ่าวบนเขาวงจันทร์ ปัจจุบันยอดเจดีย์เจดีย์หักพังลงเหลือแต่องค์เจดีย์ทรงลังกามีรูปแบบใกล้เคียงกับเจดีย์ในศิลปะโปลนนารุวะของลังกา พ.ศ. ๑๘ – ๑๙ ทำด้วยปะการังธรรมชาติ น่าจะสร้างในสมัยพระพนมวัง ซึ่งพระอินทราชาเป็นผู้สร้าง ต่อมาได้เป็นที่บรรจุพระอัฐิ(กระดูก) ส่วนหนึ่งของพระพนมวังด้วย” ท้ายสุดพี่สิริวิทย์กล่าวทิ้งท้ายว่าเรื่องนี้คงต้องมีการศึกษาค้นคว้าต่อไป ณ ที่นี้พวกเราได้สัมผัสกับสายลมอ่อนๆ ทุกคนเดินชมรอบๆบริเวณ อธิษฐานขอพรซึ่งกันหลายคนรวมทั้งผู้เขียนด้วย จากนั้นก็ได้ถ่ายภาพรวมกันเป็นที่ระลึก แล้วเดินทางสู่ที่พัก อลงกตรีสอร์ท
อลงกตรีสอร์ท ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๒ ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ริมฝั่งทะเลอันสวยงามลักษณะเป็นรูปโค้งไปจรดหาดคอเขา ฉะนั้นเมื่อตั้งกระเป๋าเข้าที่พักจึงไม่มีใครที่จะอยากนั่งอยู่ในห้อง พวกเราได้ออกมาเดินเล่นริมหาด ซึ่งวันนี้ลมช่างแรงเสียจริงๆ ในใจผู้เขียนจึงอดคิดไม่ได้ว่าโลมาสีชมพูจะออกมาอวดโฉมด้วยลีลาอันน่ารักให้เห็นหรือไม่ หลายคนก็ลงไปสัมผัสทรายอันละเอียดอ่อนริมทะเลสัมผัสละลอกคลื่น บ้างก็เป็นมือกล้องสมัครเล่นสนุกสนานกัน สักพักพี่รวมก็นำเข้าสถานที่เลี้ยงอาหารเย็นและจัดปาร์ตี้กลายๆ พวกเราก็ตั้งใจที่จะเดินเลียบชายฝั่งไปเรื่อยๆในเส้นทางหนึ่งกิโลเมตรกว่าๆด้วยความเย็นสบายของสายลม จนกระทั่งถึงหาดคอเขา พวกเราปาร์ตี้กันชายหาดมีการร้องเพลงสลับการเต้นรำ และการกล่าวต้อนรับจากแขกผู้มีเกียรติเป็นระยะๆ ผู้เขียนเองก็เมื่อยขาจากการเดินเก็บภาพแบบไม่ให้ตกหล่น แต่ทุกคนมีสีหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสุขดูภาพเป็นหลักฐานได้ ลมก็ยังคงแรงเหมือนเดิมและแรงขึ้นเรื่อยๆแต่เราก็ยังสู้จนกระทั่งห้าทุ่มกว่า ลมก็แรงขึ้นกว่าเดิมและเห็นว่าได้เวลาอันสมควรเพราะพรุ่งนี้เรายังมีภารกิจในการศึกษาดูงานอีก เพลงจากกันแต่ไม่อำลาจึงได้เริ่มขึ้นจนกระทั่งจบลง ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับที่พัก ฟังเสียงคลื่นลมจนกระทั่งหลับใหลไปตามเวลา ห้าโมงกว่าๆผู้เขียนแหวกม่านไปดูข้างนอกตั้งใจจะไปสวัสดีกับหาดทรายสักหน่อยปรากฎว่าลมแรงมากๆ และแดดปิด เลยนอนเล่นอยู่ในห้องหกโมงอาบน้ำแต่งตัว เจ็ดโมงจึงออกมานั่งเขียนกลอนบันทึกการดูงานสนุกๆด้วยอารมณ์อยากจะเขียน ทั้งที่เขียนไม่ค่อยเป็นด้วยซ้ำ แต่ก็อยากจะเขียนแล้วก็ใส่เอาไว้ในบล็อกด้วย มีนักศึกษาสาวหลายคนที่ใจสู้ลงเล่นน้ำทะเลกันอย่าง สนุกสนาน มองไกลๆนึกว่าสาวสิบเจ็ด แปดโมงเราก็ออกจากที่พักไปทานอาหารเช้าที่ตลาดสี่แยกร้านของน้องนุช(น้องคะนึงนุช จุนแก้ว)และคณะแม่บ้าน ซึ่งน้องเขาได้ต้อนรับพวกเราตั้งแต่ตอนเที่ยง ตอนค่ำ และรุ่งเช้าอีกต้องขอบคุณทีมงานน้องเขาจริงๆ อาหารเช้าก็เป็นปลาท่องโก๋กรอบนอกนุ่มใน ข้าวเหนียวปิ้ง พร้อมด้วยน้ำชา กาแฟร้อนๆ ยามเช้าของตลาดสี่แยกไม่คึกคักมากนัก แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวให้เห็นอยู่ประปราย หลังจากอ้อยอิ่งในร้านน้ำชาพอสมควร คณะนักศึกษาจึงได้เดินทางดูไปศึกษาดูงานที่ศูนย์แพทย์แผนไทย บ้านเปร็ด ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
ศูนย์แพทย์แผนไทย บ้านเปร็ด ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช คุณสุวณีย์ คุณจเรว์ ก๋งอุบล ได้เล่าถึงความเป็นมา และแรงบันดาลใจในการก่อเกิดแพทย์แผนไทย ทั้งที่ท่านยังยึดอาชีพเป็นข้าราชการครู สมาชิกในกลุ่มของม่านมีทั้งคนในชุมชนและนักเรียน ซึ่งนอกนวดแผนไทยแล้ว ยังมีอาหารเพื่อสุขภาพ มีสถานที่นั่งวิปัสสนา บรรยากาศรอบบ้านซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางกะด้วยสายตาไม่ต่ำกว่าห้าไร่ขึ้นไปเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ยืนต้น ซึ่งให้ร่มเงาร่มรื่นเย็นสบาย สงบ สะอาดสะอ้าน จากนั้นนักศึกษาน้องออย สุธารัตน์ ทรงสง่า ก็ได้สรุปถอดบทเรียนจากการศึกษาดูงานครั้งนี้ พร้อมกับการทานขนมจีนไปด้วย เสร็จสรรพกล่าวคำอำลาและกล่าวขอบคุณเจ้าภาพและเดินทางไปร้านน้องนุชซึ่งได้เตรียมข้าวมันไก่บ้าน ข้าวหมูกรอบ ไว้ต้อนรับอีกละลอกด้วยความอร่อยหลายคนยังชิมอีกคนละจานสองจาน แล้วก็ถือโอกาสล่ำลากันที่ร้านน้องนุช จากนั้นได้เดินทางมาดูธุรกิจชุมชนพันธุ์ไม้ของน้องดำ ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ได้บล็อกซีเนียและจันทน์ผาไปคนละต้นสองต้น ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ คำถามที่ตามมาได้อะไรจากการศึกษาดูงาน ดั่งภาษิตที่ว่า “ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำไม่เท่าทำเอง”
ขอขอบคุณ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ผอ. จำเริง ฤทธิ์นิ่ม/ ผู้อำนวยการโรงเรียนท้องเนียนคณาภิบาล ผอ.สุวัฒน์ คนซื่อ / ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเขาวันครู ผอ.อนันต์เผือกเนียม/ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำโฉ่ ผอ.กฤษฎา เพ็งจันทร์/ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าม่วง ผอ.วรศักดิ์ เพชรลิ / อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าม่วง ผอ.สวัสดิ์ บานโรย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองเหลง ผอ.สุนทร เพชรดี / นายกสมาคมอำเภอขนอม คุณอำพล เจนเศรษฐวัฐ / อดีตสมาชิกสภาจังหวัดและรองประธานกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าขนอม คุณประวิก ขนอม / รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท้องเนียน คุณสรวิทย์ อินทร์สุวรรณ ประธานกลุ่มผู้สูงอายุตำบลท้องเนียน คุณประมูล เสนเรือง / ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอ่าวหม่อมวัง คุณสดชื่น เสนเรือง / ประธานกลุ่มขนอมร่วมพัฒนา คุณเทิดศักดิ์ อธิกมานนท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒,๓,๔,๕,๖,๗ และ๘ ตำบลท้องเนียน/ กำนันตำบลท้องเนียน คุณประชุมพล สุทธิช่วย / รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นครศรีธรรมราช คุณเกียรติศักดิ์ สุนทรมัฏฐ์ ประธานชมรมพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขนอม คุณวชิรพงศ์ สกุลรัตน์ และอีกหลายๆท่านที่ไม่สามารถเอ่ยชื่อได้ทั้งหมดที่กรุณาให้ข้อมูลและให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นอย่างดียิ่ง ขอบคุณพี่สิริวิทย์-พี่อำพัน เสนเรือง น้องอภิญญา สกุลรัตน์ ที่เป็นเจ้าภาพผู้ประสานงานทุกอย่าง และอาหารทุกมื้อจนการศึกษาดูงานลุล่วงสำเร็จตามเป้าหมาย ขอบคุณพี่หมออิทธิเดช วิเชียรรัตน์ น้องเบิร์ดอภิวัฒน์ ไชยเดช น้องวุฒิ น้องแพร พี่สมเดช ปลอดทองสม น้องพยอม ยางแก้ว คุณศิวพร สีดำ พี่สวัสดิ์ คุณสุมณฑินี สมัครพงศ์ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อเครื่องดื่ม ขอบคุณดินแดนขนอมที่ให้ทั้งอาหารกายอาหารใจ นักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตทุกคน โอกาสหน้าขอพบกันอีก