วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551

สิ่งที่ต้องเตรียมในวันศึกษาดูงาน

วันนี้(๗/มี.ค./๒๕๕๑ )ไปเซอร์เวย์เส้นทางศึกษาดูงานที่อำเภอชะอวดในวันที่ ๘-๙ มีนาคม ๒๕๕๑ มีเรื่องแจ้งด่วนโดยเฉพาะนักศึกษาผู้หญิงต้องเตรียม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ขันนำ ผ้าถุง(๒ ผืน) ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ เพราะพวกเราจะต้องอาบนำดูแสงจันทร์ และนอนรวมกันในห้องทั้งหมดหรือเต็นท์(โปโมชั่นให้เลือก)ที่ห้วยนำใส ธรรมชาติสวยมากๆสวิสเมืองไทย ; และในวันอาทิตย์ควรจะแต่งกายให้เหมาะกับการเดินป่า ปีนเขา ลอดถำ โดยเฉพาะรองเท้าควรจะเป็นผ้าใบ(สูงสูงห้ามเด็ดขาด) นะจ๊ะ นะจ๊ะ

วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2551

เรื่องวิจัยของนักศึกษาสุมณฑินี สมัครพงศ์

การปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน : กรณีศึกษา โรงเรียนทางพูนวิทยาคาร อำเภอฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-7 ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวในอัตราสูงแต่การเติบโตดังกล่าวต้องแลกด้วยทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงแรงงานราคาถูกที่ใช้เป็นฐานในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ และเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำของรายได้คุณธรรมจริยธรรมอันเป็นรากแก้วของสังคมเริ่มหายไปทุกคนมุ่งหาเงินเป็นหลัก อีกทั้งยังต้องพึ่งทุนทางเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในขณะที่มีข้อจำกัดในด้านการพัฒนาศักยภาพของคน และการเสริมสร้างฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ถึงแม้ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากคำว่ากลุ่มประเทศยากจน แต่การเติบโตดังกล่าวยังอยู่บนพื้นฐานความไม่สมดุลของการพัฒนา กล่าวคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้และผลประโยชน์จากการพัฒนาระหว่างภาคระหว่างชนบทกับเมืองและระหว่างกลุ่มคนในสังคมยังเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยใช้ภาคเกษตรกรรมเป็นฐานของความเจริญ ดังจะพบว่าลักษณะสำคัญของแผนพัฒนาประเทศ นโยบาย กฎหมาย ฯลฯ ที่ผ่านมาก็คือ การเป็นเครื่องมือถ่ายโอนทรัพยากรและมูลค่าส่วนเกินจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม เมื่อมองที่มาของการจัดทำแผนฯ ตั่งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 – 3 เจ้าหน้าที่ของสภาพัฒน์เป็นผู้เขียน ถัดมาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 – 7 เจ้าหน้าที่ของทุกระทรวงเป็นผู้เขียน แล้วนำไปให้ประชาชนปฏิบัติ สำหรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เป็นต้นไปประชาชนมีส่วนร่วมในการเขียนแผน โดยในแผนฯ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540 – 2544 ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งสู่พัฒนาคน“คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” เพราะคนเป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จของการพัฒนาในทุกเรื่อง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคน เพื่อให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วม และรับผลประโยชน์จากการพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ ทุกกระทรวงได้กำหนดจุดมุ่งหมายของการพัฒนาเดียวกันคือการเพิ่มศักยภาพของคนและการพัฒนาสังคมให้มีส่วนในการส่งเสริม และสนับสนุนต่อการพัฒนาคน โดยในวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาฯ “เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคมให้มีความมั่นคงและเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน ให้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคน รวมทั้งให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น” จากที่ต้องปรับตัวให้เหมาะสม สอดคล้อง กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อมทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ในแต่ละช่วงเวลามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลการพัฒนาทั้งที่ประสบความสำเร็จและทั้งที่ต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคจนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น ในแผนฯ ฉบับที่ 9 ซึ่งเป็นแผนฯ ที่ได้อัญเชิญแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ แต่ในภาคปฏิบัติการบริหารภาครัฐกลับเน้นความเติบโตด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก

ในร่างแผนฯ ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550 – 2554 ที่กำลังจะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้ ยังคงยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งพัฒนาสู่ สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน (Green Society) โดยคำนึงถึงการดำเนินการในทางสายกลาง ที่อยู่บนพื้นฐานความพอดี เน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก และความพอประมาณอย่างมีเหตุผล เป็นการใช้ชีวิต การผลิตและการบริโภคอยู่บนความพอประมาณ และการเสริมสร้างคุณภาพคนให้เป็นคนดีมีคุณธรรมและมีความซื่อสัตย์สุจริต ชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทประมาณร้อยละ 60 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่เกษตรกรประมาณร้อยละ 41 ของเกษตรกรทั้งประเทศที่ทำการเกษตรบนที่ดินของตนเอง ผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลผลิตที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะ เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ทว่าเกษตรกรไทยกลับมีรายได้ลดลง ชาวบ้านในชนบทที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจึงต้องประสบกับปัญหาความยากจน ทั้งๆที่ในท้องถิ่นชนบทมีภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีค่าอยู่มากมาย (ศิวฤทธิ์พงศกร-รังศิลป์.2544 : 7) ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 โดยเริ่มจากภาวะวิกฤตสถาบันทางการเงิน และลุกลามไปยังธุรกิจเกือบทุกสาขา ทั้งธุรกิจที่มีกิจการขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ก่อให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ผลที่เกิดจากเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้อำนาจการซื้อขาย การบริโภคของประชาชนลดน้อยลง ธุรกิจเกิดการชะลอตัว หรือลดการผลิต มีการเลิกจ้างงาน เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน เป็นต้น ความสูญเสียทางเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลกระทบลุกลามกลายเป็นปัญหาสังคมที่ต้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขให้ความช่วยเหลือ โดยความร่วมมือ จากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในการที่จะกระตุ้น สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพัฒนาอาชีพเข้าสู่ธุรกิจขนาดย่อม พึ่งตนเองได้โดยใช้ภูมิปัญญา ซึ่งเป็นพื้นฐานของครอบครัว ชุมชน อย่างเชื่อมั่น และยั่งยืน (กรมการศึกษานอกโรงเรียน. 2545 : 23)

จากสภาพสังคมในปัจจุบัน ที่โลกต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ มากมายในเกือบทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่แปรผันไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก (บูรชัย ศิริมหาสาคร 2540 : 11-12) วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เกิดขึ้น แม้ภาครัฐบาลและภาคเอกชนจะได้ดำเนินความพยายามร่วมกันในการเร่งกอบกู้ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้สำเร็จ ส่งผลกระทบไปสู่ประชาชนทุกระดับทั่วประเทศ ความร่วมมือที่จะบังเกิดผลโดยทันที คือ การประหยัดค่าใช้จ่ายในระดับครอบครัว ทำให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยการบริหารจัดการทรัพยากรที่ยังเหลืออยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นอย่างพอเพียง ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของวิสัยทัศน์ใหม่ คือ วิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า ตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบใหม่ จัดระบบความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง "คน ทรัพยากร และความรู้" อันเป็นสามปัจจัยหลัก ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การจัดการ และการพัฒนาที่เกิดจาก "ภายใน" ชุมชนท้องถิ่น และ "ทุน" ที่แท้จริงของตนเอง ทุนที่เป็นทรัพยากร ผลผลิต โภคทรัพย์ ความรู้ ภูมิปัญญา ระบบคุณค่า วัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งทุนทางสังคม เพื่อให้ชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ พึ่งพาตนเองได้ ทั้งนี้เพื่อสร้างกลไกที่เป็นทางเลือกใหม่ให้ชุมชนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองในการจัดการตนเอง และทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวจะทำให้ชุมชนค่อยๆ ได้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา ความเชื่อมั่นซึ่งเคยมีในอดีตแต่ได้หายไปพร้อมกับความล้มเหลวของการพัฒนาในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรและผลผลิตในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาและปรับปรุงการจัดการการผลิต การแปรรูป และการตลาดภายในชุมชนและท้องถิ่น มีรากฐานที่มั่นคง ซึ่งมนุษย์จำเป็นต้องบริโภคปัจจัยสี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหาร จึงควรผลิตเพื่อการบริโภคเองให้ได้มากที่สุด เพื่อการพึ่งพาตนเอง แนวทางหนึ่งในการพึ่งพาตนเองและลดรายจ่ายคือ การปลูกพืชสวนครัวไว้กินเอง ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้มาก

ผักที่ประกอบในอาหารแต่ละชนิด ทำหน้าที่สองอย่าง คือ เพิ่มคุณค่าทางอาหารให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากผักอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ และวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์มากน้อยแล้วแต่อาหารแต่ละชนิดของผัก หน้าที่ของผักอีกอย่างคือ เป็นเครื่องชูรสอาหาร เนื่องจากผักมีสีสันต่าง ๆ หลากหลาย รวมทั้งรสและกลิ่นของผักต่าง ๆ ก็มีส่วนในการเพิ่มรสชาติให้น่ารับประทานมากขึ้นด้วย
การปลูกผักไว้รับประทานนับเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะได้บริโภคผักที่ปลอดสารพิษ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีโอกาสที่จะได้รับประทานรสชาติผักที่ใหม่และสด รวมทั้งยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายประจำวัน สอดคล้องกับชีวิตประจำวันในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังให้ความเพลิดเพลินใจ มีส่วนให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันในการช่วยปลูก และช่วยกันดูแลผักสวนครัวที่สมาชิกภายในครอบครัวช่วยกันสร้างขึ้นมา นับเป็นการปลูกจิตสำนึกต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีค่ายิ่ง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและตกต่ำ ประชาชนมีรายจ่ายสูงในการซื้อหาวัตถุดิบ เพื่อการประกอบอาหาร รวมถึงสถานการณ์ตื่นตัวในด้านสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารอาหารจากพืชผักสวนครัว ดังนั้น ถ้าหากได้ให้ความสนใจทางเลือกใหม่ คือ เพาะปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคเองในครัวเรือน ซึ่งเป็นพรรณผักพื้นบ้านหรือพรรณไม้ในท้องถิ่นที่นิยมนำมาบริโภคเป็นผักตามวัฒนธรรมการบริโภคแต่ละท้องถิ่น โดยได้มาจากการปลูกไว้บริเวณบ้าน เพื่อสะดวกในการเก็บบริโภค นอกจากบริโภคแล้ว ยังถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรค และบางประเภทมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งจะเป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรในการลดรายจ่ายประจำวันลงได้
จากการศึกษาสภาพทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพในชุมชน ในเขตพื้นที่ที่นักเรียนอาศัยอยู่ ซึ่งได้แก่ตำบลทางพูน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะพื้นที่แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ 1 คือพื้นที่หมู่ที่ 1 ,2 และ 6 เป็นส่วนที่เป็นสันเนินทราย เป็นพื้นที่อาศัยของชุมชน ส่วนทางทิศตะวันตกเป็นของตำบล เป็นท้องที่พรุ เป็นทุ่งนา หมู่ที่ 3และหมู่ที่ 5 เป็นพื้นที่พรุ ที่เปลี่ยนสภาพเป็นป่าพรุ เป็นทุ่งนา สภาพดินเป็นดินเปรี้ยว ทำการเพาะปลูกได้ผลไม่มากนัก หมู่ที่ 4 เป็นพื้นที่ทั้งเนินทราย ทุ่งนา และทุ่งที่เป็นพรุ พื้นที่ส่วนนี้ชุมชนอาศัยหนาแน่นพอสมควร อันเนื่องด้วยสภาพพื้นที่เหมาะในการเกษตรทั้งไม้ผล พืชไร่ และนาข้าว ส่วนอาชีพและที่ดินทำกินส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ รับจ้างทั่วไป ค้าขาย และรับราชการ ฐานะทางเศรษฐกิจของชุมชนในตำบลทางพูนแบ่งได้เป็นสองช่วง คือ สมัยเดิม ชุมชนมีฐานะปานกลาง อันเนื่องด้วยทรัพยากรมรมาก ชุมชนมีกินมีใช้สมบูรณ์ ปัจจุบันชุมชนหนาแน่นขึ้น ดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง รายได้ของชุมชนลดลงต้อง บางคนต้องเลิกอาชีพเดิม หันไปหางานในต่างถิ่นมากขึ้น อาชีพหลักในชุมชน เดิมมีการทำนาข้าวที่เรียกว่านาปี ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน เป็นอาชีพหลักที่สามารถดำรงชีวิตได้ดี ปัจจุบันการทำนาลดลงเช่นกัน ชุมชนขายที่ทำกินให้นายทุนในราคาต่ำ ไปหลายพันไร่ หันไปรับจ้างทั่วไปและย้ายถิ่นทำมาหากิน ในท้องถิ่นอื่น ชุมชนมีหนี้สินเช่นหมู่ที่ 2 มีหนี้สินรวม 2,520,100 บาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 5,000 บาท (องค์การบริหารส่วนตำบลทางพูน.2549 : 5-7) และจากการที่โรงเรียนทางพูนวิทยาคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยครูที่ปรึกษา ได้จัดโครงการออกเยี่ยมบ้านนักเรียนในกลุ่มที่รับผิดชอบ เพื่อศึกษาด้านสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวนักเรียนที่ส่งผลต่อการศึกษา เช่น ความเป็นอยู่ สภาพทางอาชีพ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม จากการสังเกตและสัมภาษณ์ผู้ปกครองพบว่าลักษณะชุมชนตำบลทางพูนเป็นชุมชนที่มีประชากรอาศัยไม่หนาแน่น มีพื้นที่ในบริเวณบ้านกว้างขวางประมาณ ½ - 2 ไร่ มีพื้นที่ว่างเปล่าอยู่มาก สภาพดินสามารถปลูกผักสวนครัวได้ทุกครัวเรือน และจะมีน้ำท่วมขังในช่วงหน้าฝน บางครอบครัวรายได้ไม่ค่อยพอกับรายจ่าย ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นในตัวเมือง เพื่อให้ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น บางครอบครัวพอกินพอจ่ายไม่เดือดร้อนมากนัก (นางปรานี นุ่นเกิด ผู้ปกครองนักเรียนชั้นม. 1/4 ) ทุกครัวเรือนจะนิยมปรุงอาหารรับประทานกันเองภายในครัวเรือน พืชผักสวนครัวที่บริโภคส่วนใหญ่จะซื้อทุกอย่างที่บริโภค โดยเฉพาะพืชผักสวนครัวมีการบริโภคเฉลี่ยครัวเรือนละ 10 – 30 บาทต่อวันต่อครัวเรือน(ผู้ปกครองนักเรียนชั้นม.1/4, สัมภาษณ์. 2550 ) และจากการสอบถามพบว่าผู้ปกครองต้องการปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคเองและอยากให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการปลูกพืชผักสวนครัวด้วย เพื่อให้นักเรียนเหล่านั้นได้มีความรับผิดชอบ มีใจรักการทำงาน และรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และจะได้เกิดความเคยชินปลูกผักไว้กินเองต่อไปเมื่อโตขึ้นและเป็นการช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ แต่ยังขาดองค์ความรู้ในการปลูกพืชผักสวนครัว และผู้ปกครองและนักเรียนมีความเห็นตรงกันว่าการปลูกพืชผักสวนครัวสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาว่าทำอย่างไรให้นักเรียนและผู้ปกครองมีการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนและพืชผักสวนครัวจะลดรายจ่ายในครัวเรือนได้อย่างไรบ้าง

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาการสร้างองค์ความรู้การปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนของผู้ปกครองและนักเรียน ชั้นม.1/4 โรงเรียนทางพูนวิทยาคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช
2. เพื่อศึกษาการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนของผู้ปกครองและนักเรียน ชั้นม.1/4 โรงเรียนทางพูนวิทยาคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช
3. เพื่อศึกษาผลที่ได้จากการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนของผู้ปกครองและนักเรียน ชั้นม.1/4 โรงเรียนทางพูนวิทยาคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประโยชน์ของการวิจัย

1. ผู้ปกครองและนักเรียนชั้นม.1/4 โรงเรียนทางพูนวิทยาคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีองค์ความรู้เรื่องการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน
2. ผู้ปกครองและนักเรียนชั้นม.1/4 โรงเรียนทางพูนวิทยาคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน

3. ผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนทางพูนวิทยาคาร ได้สรุปผลที่ได้จากการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน

ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย
การวิจัยเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน : กรณีศึกษา ผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนทางพูนวิทยาคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้วิจัยได้กำหนดประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ดังนี้

1 ประชากร
1.1 หน่วยประชากร
หน่วยประชากรในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ผู้ปกครองและนักเรียน ชั้น ม.1/4 โรงเรียนทางพูนวิทยาคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 14 ครัวเรือน
1.2 หน่วยการวิเคราะห์
หน่วยการวิเคราะห์ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ ผู้ปกครองและนักเรียน ชั้นม.1/4 โรงเรียนทางพูนวิทยาคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 14 ครัวเรือน

2. การเลือกกลุ่มตัวอย่าง
2.1 กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ ผู้ปกครองและนักเรียนชั้นม.1/4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 โรงเรียนทางพูนวิทยาคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 50 % ของห้องม.1/4 เท่ากับจำนวน 14 ครัวเรือน
2.2 แผนการสุ่มตัวอย่าง
ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง(purposive Sampling) (บุญชม ศรีสะอาด. 2543 : 41 ) เนื่องจากผู้วิจัยเป็นคุณครูที่ปรึกษาและครูผู้สอนของนักเรียนชั้นดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการดำเนินการวิจัย อาศัยความความสัมพันธ์ใกล้ชิด ความสนิทสนมคุ้นเคย และความสะดวกในการเก็บรวบรวมข้อมูล ติดตามและสรุปผลอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

การวิจัยเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน : กรณีศึกษา ผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนทางพูนวิทยาคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้วิจัยใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของการศึกษา ซึ่งได้แก่
1. แบบสังเกต เป็นแบบสังเกตทั่วไปของสภาพชุมชน และแบบสังเกตพฤติกรรมของผู้ให้ข้อมูลจำนวน 15 ชุด
2. แบบสัมภาษณ์ ใช้แบบสัมภาษณ์ข้อมูลความต้องการการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ของผู้ปกครองและนักเรียนชั้นม.1/4 อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 14 ชุด
3. แบบการจัดเวทีเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) โดยใช้เทคนิค A I C จัดเวทีเชิงปฏิบัติการผู้ปกครองและนักเรียนชั้นม.1/4 อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 14 ครัวเรือน
4. แบบบันทึกติดตามผลการจัดกิจกรรมการปลูกพืชผักสวนครัวของนักเรียนและผู้ปกครองชั้นม.1/4 จำนวน 14 ชุด
5. แบบสรุปผลการปลูกพืชผักสวนครัวของนักเรียนและผู้ปกครอง จำนวน 14 ชุด

วิธีดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล

ข้อมูลที่ใช้ประกอบการวิจัยครั้งนี้ ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลใน 2 ส่วนหลักๆ คือ
1. ข้อมูลปฐมภูมิ เป็นข้อมูลที่ได้จาก
1.1 วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม ออกไปเยี่ยมครอบครัวนักเรียนและผู้ปกครองจำนวน 14 ครัวเรือน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกัน สร้างความสนิทสนมเป็นกันเองจนเข้าใจปัญหา เข้าใจวิธีคิด ด้วยการใช้กระบวนการสังเกต สนทนาซักถาม และจดบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ข้อมูลจากความเป็นจริงมากที่สุด
1.2วิธีการสัมภาษณ์และสนทนาแบบเป็นทางการและการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ บันทึกเทป บันทึกเสียง และถอดเป็นลายลักษณ์อักษร การสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการโดยกำหนดแบบสัมภาษณ์ สัมภาษณ์ผู้ปกครองและนักเรียนทั้ง 14 ครัวเรือน ใช้คำถามเป็นแบบปลายเปิด ตามประเด็นที่กำหนดในการศึกษา
1.3 วิธีการการจัดเวทีเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) โดยวางแผนการจัดเวทีไว้ล่วงหน้า นัดหมายผู้ปกครองและนักเรียนชั้นม.1/4 จำนวน 14 ครัวเรือน จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า (AIC) ซึ่งเป็นวิธีการและเทคนิคในการเอาคนที่จะทำงานร่วมกันทั้งหมด เข้ามาประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ซึ่งจะดำเนินการใน 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 คือ A : Appreciation ขั้นที่ 2 คือ I : Influence และขั้นที่ 3 คือ C : Control กำหนดแผนปฏิบัติการ เป้าหมาย และข้อตกลงร่วมกันในการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนระหว่างผู้วิจัย ผู้ปกครอง และนักเรียน
1.4 วิธีบันทึกผลการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยนักเรียนและผู้ปกครองชั้นม.1/4 ร่วมกันบันทึกผลการเจริญเติบโต/ปัญหาอุปสรรคที่พบ
1.5วิธีสรุปผลการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนของนักเรียนและผู้ปกครองชั้นม.1/4 จำนวน 14 ครัวเรือนตามประเด็นที่กำหนด
1.6 รวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการสังเกต การสัมภาษณ์ สอบถาม การจัดเวทีเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) การบันทึกผลการปลูกพืชผักสวนครัว การสรุปผลที่ได้จากการปลูกพืชผักสวนครัว โดยบันทึกเทปเสียง และบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
1.7 ถอดเทปบันทึกเสียง การจัดเวทีเชิงปฏิบัติการ(Work Shop) การสรุปผลที่ได้จากการปลูกพืชผักสวนครัว และถอดข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร
1.8 นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ผล สรุป และอภิปรายผล

2. ข้อมูลทุติยภูมิ เป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจากหนังสือ เอกสาร วารสาร และอินเตอร์เนต ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีต่างๆ